วิกฤตเศรษฐกิจจีน-สหรัฐชะลอลดดอกเบี้ยกดดันเศรษฐกิจไทยโตต่ำอาจต้องขยับเพดานหนี้แตะ 35%

17 เมษายน 2567
วิกฤตเศรษฐกิจจีน-สหรัฐชะลอลดดอกเบี้ยกดดันเศรษฐกิจไทยโตต่ำอาจต้องขยับเพดานหนี้แตะ 35%

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตกรรมการและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส) เปิดเผยว่า สถานการณ์วิกฤตการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินของจีนได้ลุกลามสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ แม้นทางการจีนจะใช้ทั้งมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและผ่อนคลายทางการคลังก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤติไม่ให้ลุกลามไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงและภาวะเรื้อรังของภาวะเงินฝืด

ภาวะวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินของจีนนั้นเป็นผลจากการลงทุนเกินขนาดมีภาวะอุปทานส่วนเกินอยู่จำนวนมาก มีการเก็งกำไรปั่นฟองสบู่ราคาอสังหาริมทรัพย์ให้สูงเกินจริง ขณะที่อุปสงค์หดตัวอย่างรุนแรงช่วงการแพร่ระบาดของโควิดและการล็อคดาวน์อย่างเข้มงวด รัฐบาลจีนได้ควบคุมบรรดาผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อหนี้เกินตัวและพฤติกรรมเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา แต่การดำเนินล่าช้าเกินไปสถานการณ์ฟองสบู่เก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์และปัญหาหนี้เสียที่ซ่อนอยู่ในสถาบันการเงินและธนาคารเงาได้ลุกลามเกินเยียวยาด้วยมาตรการตามปรกติแล้ว

ในที่สุด บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ต่างผิดนัดชำระหนี้ และเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตั้งแต่ “เอเวอร์แกรนด์” ไปจนถึง “คันทรี การ์เดน” และล่าสุด ไชน่า อาวหยวน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกว่างโจว มีรายการหนี้สินในต่างประเทศทั้งหมดราว 6,000 ล้านดอลลาร์ (กว่า 2 แสนล้านบาท) ผิดนัดชำระหนี้และเข้าสู่กระบวนการล้มละลายโดยยื่นขอพิทักษ์ศาลล้มละลายในสหรัฐอเมริกา ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ยังคงดิ่งลงต่อเนื่อง ปัญหาการล้มละลายของภาคอสังหาริมทรัพย์ได้กดดันให้ภาคการเงินและตลาดการเงินของจีนอ่อนแอลง และ ผลกระทบต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมซีเมนต์

คาดว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนนั้นปรับตัวลดลงมากกว่า 20% ในปีนี้จากบรรษัทข้ามชาติจำนวนมากพิจารณากระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินการเพื่อลดการพึ่งพาฐานการผลิตในจีนจากผลกระทบของสงครามการค้าและมาตรการกีดกันทางการค้าจีนต้องเลือกใช้มาตรการปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมากขึ้นไม่สามารถพึ่งพานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบที่เคยใช้ได้ผลในอดีตได้อีกต่อไป

ผลของการปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การทุ่มตลาดของสินค้าจีนการขยายห่วงโซ่อุปทานของจีนในอาเซียน ล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคทั้งทางบวกและทางลบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ประกอบกับยังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในประเทศไทยในขณะนี้ แต่คาดว่าทั้งปีน่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายของแบงก์ชาติอย่างน้อย 1-2 ครั้ง

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคมของสหรัฐอเมริกายังคงปรับตัวสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.5% ทำให้โอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯในเดือนมิถุนายนมีความเป็นไปได้น้อยลง ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยดอลลาร์สหรัฐฯและอัตราดอกเบี้ยบาทจึงไม่ได้เป็นปัจจัยที่กำหนดการเคลื่อนย้ายเงินทุนแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ปัจจัยผลตอบแทนจากการลงทุนที่ปรับความเสี่ยงแล้ว ปัจจัยคุณภาพของทุนมนุษย์ ปัจจัยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเชิงสถาบันและเสถียรภาพของระบบการเมืองมีความสำคัญกว่าส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจอาเซียน เศรษฐกิจจีนเป็นห่วงโซ่อุปทานเดียวกันและพึ่งพาอาศัยกันในสัดส่วนสูงเมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อไทยและภูมิภาค

ปัจจัยนี้จะสร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ในที่สุดคาดรัฐบาลอาจต้องขยับเพดาน ภาระผูกพันตามมาตรา 28 เป็น 35% ของงบประมาณในอนาคตหากต้องใช้มาตรากึ่งการคลังดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะการใช้สภาพคล่องและกู้เงินจาก ธกส เพื่อใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทจะทำให้ภาระผูกพันตามมาตรา 28 แตะเพดาน 32% ของงบประมาณอันเป็นเพดานที่ขยับลงมาจากระดับ 35%ก่อนหน้านี้

สัดส่วนที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 35 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ได้ถูกขยับลงมาหลังจากรัฐบาลชุดที่แล้วได้จัดสรรเงินงบประมาณชำระคืนภาระยอดคงค้างตามมาตรา 28 จำนวน 104,472 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.28% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยภายในการสิ้นสุดปีงบประมาณ 2566 จะต้องมียอดหนี้คงค้างตามมาตรา28 ไม่เกิน 32% ตามที่คณะกรรมการกำหนด

หากย้อนกลับไปปลายปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลประยุทธ์ได้มีการขยายเพดานหนี้ในมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของภาครัฐ ในส่วนการก่อหนี้ภาครัฐต่อสัดส่วนงบประมาณจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 30% เป็น 35% เป็นเวลาชั่วคราว 1 ปี ก่อนที่จะปรับลงมาเป็น 32% แต่ ตนคาดว่า หากเศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพในระดับ 5-6% รัฐบาลเศรษฐาอาจจำเป็นต้องขยับเพดานไปที่ระดับ 35% อีกครั้งหนึ่งเพื่อใช้ก่อภาระผูกพันนำเงินนอกงบประมาณหรือมาตรการกึ่งการคลังไปดูแลเศรษฐกิจในอนาคต

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามพันธกิจที่กำหนดไว้ตามกฎหมายและตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละช่วงเวลา ธ.ก.ส. เป็นองค์กรสนับสนุนมาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายประกันรายได้ จำนำสินค้าเกษตร สนับสนุนกองทุนต่างๆเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาลหลายชุดมาอย่างต่อเนื่อง

การใช้สภาพคล่องที่เหลืออยู่ของ ธ.ก.ส. ในการสนับสนุบโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเลต หรือ กู้เงิน 1.7 แสนล้านจากธนาคาร ธกส เพื่อดำเนินการในมาตรการดังกล่าว สามารถทำได้บนเงื่อนไขดังต่อไปนี้

ประการแรก ต้องมีความมั่นใจว่า ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องเพียงพอในการสนับสนุนโครงการดังกล่าวโดยไม่กระทบต่อสภาพคล่องของ ธกส ในการดำเนินงานตามพันธกิจสำคัญ

ประการที่สอง ต้องทำให้เกิดความมั่นใจต่อการดำเนินงานของ ธกส และไม่มีการถอนเงินฝากหรือสภาพคล่องออกจาก ธกส มากกว่าปรกติ

ประการที่สาม มีการบันทึกบัญชีแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ระหว่าง บัญชีดำเนินการตามปรกติ และบัญชีดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐโดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเลต 10,000 บาท

ประการที่สี่ มีการทำแผนการชำระเงินคืนและชดเชยรายได้จากการดำเนินการแจกเงินดิจิทัลให้เกษตรกร

โดยกำหนดให้กระทรวงการคลังต้องจัดสรรงบประมาณจ่ายชดเชยและชำระคืนให้ ธกส อย่างชัดเจนอย่างน้อยปีละ 4-5 หมื่นล้าน หากสามารถดำเนินการสนับสนุนการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้เป็นไปตามกฎหมายและมีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี ก็จะไม่มีปัญหาใดๆต่อฐานะทางการเงินของ ธกส และ สามารถดำเนินการสนับสนุนนโยบายดังกล่าวได้

เป้าหมายของจัดตั้ง ธ.ก.ส. ก็เพื่อให้มีสถาบันการเงินช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ฉะนั้น เงินที่เกษตรกรได้รับแจกไปจาก ธกส ควรต้องเป็นเงินที่นำไปประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ นำไปพัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรือพัฒนาความรู้ หรือ นำไปลงเพื่อประกอบอาชีพอื่นเพื่อเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองและ

ประการที่ห้า การแจกเงินดิจิทัล วอลเลต ผ่านการใช้สภาพคล่อง ธกส เป็นการดำเนินการมาตรการกึ่งการคลังและก่อภาระผูกพันผ่านหน่วยงานของรัฐ ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวต้องอยู่ในกรอบมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ อันเป็นมาตราที่กำหนดไว้เพื่อ ควบคุมไม่ให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินเกินตัว

รัฐบาลสามารถขยับเพดานหนี้และภาระผูกพันตามมาตรา 28 กฎหมายวินัยการเงินการคลังจาก 32% เป็น 35% ของงบประมาณได้ หากมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินนอกงบประมาณในการดูแลประชาชนหรือแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่พึงตระหนักว่า ภาระผูกพันเหล่านี้จะกลายเป็นหนี้สาธารณะได้หากรัฐบาลไม่สามาถเก็บภาษีหรือหารายได้เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

นายอนุสรณ์ ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติม ว่าการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทำกิจกรรม มาตรการ หรือสนับสนุนนโยบายรัฐ แล้วทยอยตั้งงบประมาณมาชดเชยค่าใช้จ่ายและรายได้ให้กับรัฐวิสาหกิจในภายหลังตามมาตรา 28 นี้ถือเป็นเงินนอกงบประมาณเป็น “มาตรการกึ่งการคลัง” (quasi-fiscal Measures) จึงไม่นับวงเงินที่ใช้เข้ามารวมอยู่ในหนี้สาธารณะในครั้งแรก อาจก่อให้เกิดการประเมินหนี้สาธารณะต่ำกว่าความจริงได้ ปลายปี 2567 นี้รัฐบาลจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคน ผ่านกลไกมาตรา 28 ของปีงบประมาณ 68 สามารถเดินหน้าดำเนินการได้แต่ แนวทางและเงื่อนไข 5 ประการในบริหารความเสี่ยงภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance)ที่ได้เสนอไปจะทำให้มาตรการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจทั้งมิติการเติบโต มิติความเป็นธรรมและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังมากขึ้นในอนาคต


แหล่งที่มา : Infoquest

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.